Last updated: 18 ก.ค. 2564 | 1623 จำนวนผู้เข้าชม |
ในสถานการณ์ปกติเกือบทุกองค์กรคงจะมีตัวชี้วัดที่สำคัญไม่ต่างกัน คือ “ยอดขาย” กำไรขั้นต้น กำไรสุทธิ ต้นทุนต่อหน่วย ค่าใช้จ่ายหลัก 10 ลำดับแรก หรือจำนวนสินค้าคงเหลือที่ต้อง Stock และการหมุนเวียนของสินค้าคงเหลือ
แต่ในสถานการณ์วิกฤติแบบนี้ การวัดความสำเร็จ ผลประกอบการ หรือประสิทธิภาพของสินทรัพย์ที่เรามีอยู่ในกิจการ อาจไม่สามารถใช้ตัวชี้วัดที่กล่าวมากได้ แล้วหากคุณในฐานะเจ้าของกิจการหรือผู้ประกอบการตัวชี้วัดอะไรบ้างที่คุณควรให้ความสำคัญอย่างใกล้ชิดในช่วงนี้ ลองมาดูกันครับ
5 ตัวชี้วัดที่ธุรกิจควรติดตามในสถานการณ์วิกฤติ
1. ค่าใช้จ่าย
แน่นอนที่สุดสำหรับเรื่องค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายคงที่ ที่เราต้องจ่าย แม้ว่ารายได้ยังไม่เกิดขึ้น หรือมีแนวโน้มลดลงก็ตาม ถึงเวลาแล้วที่คุณจะต้องมากางค่าใช้จ่ายทั้งหมดว่ามีอะไรบ้าง แล้วใช้ “หลักความสำคัญ” มาเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจ แปลง่ายๆ คือ ค่าใช้จ่ายนี้ถ้าขาดไปจะทำให้ธุรกิจอยู่ไม่ได้จริงๆ ค่าใช้จ่ายพวกนี้ ยังคงจำเป็นที่ต้องมีการจ่ายอยู่ ส่วนที่ไม่ใช่ ต้องกลับมาพิจารณาว่า ลด ละ เลื่อน หรือ เลิกไปก่อนได้ไหม
ส่วนใหญ่ค่าใช้จ่ายหลักของทุกกิจการก็คือค่าใช้จ่ายพนักงาน ซึ่งเป็นการยากที่จะตัดในทันที การหารือ หรือหาแนวทางร่วมกัน กับลูกจ้างน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด ผ่านมาปีกว่าได้ คิดว่าเรื่องพวกนี้ ควรได้รับการพูดคุยหารือกันมาแล้วบ้าง ในมุมมองเจ้าของกิจการทุกคนพยายามทุกทางเพื่อให้ลูกจ้างได้รับผลประโยชน์มากที่สุด ในทางกลับกัน ลูกจ้างก็ควรให้ความร่วมมือหรือช่วยเหลือกันในบางส่วนเช่นกัน
ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าเช่าต่างๆ ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด ค่ารับรอง ค่าเดินทาง ค่าเอกสารต่างๆ ก็ควรนำมาทบทวนถึงความสำคัญ และหากสามารถเจรจากับเจ้าหนี้การค้าได้ ตั้งแต่เนิ่นเนิ่น ก็ยิ่งจะเป็นสิ่งที่ทำให้การช่วยเหลือกันเกิด ไม่มีไม่หนีไม่จ่าย เจ้าหนี้เองก็ไม่อยากได้ยินคำนี้ การหารือและช่วยเหลือกันจะทำให้หากกลับมาเป็นปกติ ความสัมพันธ์ยังคงเกิดขึ้นแน่นอน
2. เงินสดคงเหลือ และประมาณการกระแสเงินสดสุทธิ (เงินสดรับ และ เงินสดจ่าย)
เมื่อก่อนวิกฤต เงินก็หมุนเข้าออกเป็นเรื่องปกติ และรายรับอาจจะมีเข้ามามากกว่ารายจ่าย แต่พอเหตุการณ์วิกฤติที่เกิดขึ้น แน่นอนที่สุด “เงินสด” จึงกลายเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นสิ่งที่ควรติดตามเป็นประจำทุกวัน ว่าเงินสดคงเหลือ อยู่เพียงพอต่อลมหายใจได้นานเท่าไหร่
คนส่วนใหญ่พูดว่ามีไว้สักสามเดือน หกเดือนน่าจะทำให้เราอยู่รอดได้ แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ กลับนานกว่าที่เราคิด แม้ว่าเราจะมีเงินสำรอง แต่เงินนั้นก็ร่อยหรอลงทุกวัน การแค่วัดว่าเหลือเท่าไหร่อาจยังไม่ช่วยเจ้าของกิจการ แต่ต้องย้อนกลับไปในข้อ 1 ว่าเราได้พิจารณาเรื่องค่าใช้จ่ายดีแล้วหรือยัง ว่าค่าใช้จ่ายเหล่านั้นยังสำคัญกับธุรกิจหรือไม่
นอกจากนี้ การประมาณการรายได้ และ รายจ่าย จะทำให้เจ้าของกิจการได้เห็นภาพของกระแสเงินสดของกิจการมากขึ้น เช่น เมื่อรู้ว่ารายได้ จะเกิดขึ้นในอีก 2 เดือนข้างหน้า แต่เงินสดรับ อาจไม่ได้รับในเดือนที่ 2 เนื่องจากว่าให้เครดิตเทอมอีก เจ้าของกิจการคงต้องกลับมาทบทวนเรื่องระยะเวลาอีกครั้ง เพราะหากการขายนั้นยังคงเป็นแบบเดิม จะมีผลต่อรายรับที่เป็นเงินสด ซึ่งจะช้าออกไปอีก ในทางกลับกันค่าใช้จ่ายต่างๆ ต้องจ่ายทันที หรือว่ายังมีระยะเวลาในการจ่ายออกไปอีก
3. ระยะเวลาเครดิตเทอม
อย่างที่กล่าวไว้ในข้อสอง ระยะเวลาของเครดิตเทอม เป็นผลมาจากโมเดลทางธุรกิจของกิจการ เช่นหากเป็นธุรกิจเงินสด ก็จะได้รับเงินทันทีจากการขายของ แต่หากเป็นระบบเงินเชื่อ หรือให้เครดิต เจ้าของกิจการต้องกลับมาทบทวนเรื่องระยะเวลาว่า การที่ให้ 7 วัน 15 วัน 30 วัน หรือ 90 วันยังโอเคอยู่กับสถานการณ์วิกฤติตอนนี้หรือไม่
ด้านจ่ายก็เช่นกัน ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นต้องจ่ายทันที หรือมีเวลาให้หายใจหายคอในการจ่าย ก็ต้องไปตกลงกับทางคู่ค้าหรือขอความอนุเคราะห์ต่างๆ ดีไม่ดีต่อไปการทำธุรกิจอาจจะเป็นเรื่องของการขายและรับชำระเงินทันที
4. ยอดเจ้าหนี้คงค้าง และ ลูกหนี้คงค้าง
นี่ก็อีกประเด็นที่เจ้าของกิจการบางที่อาจจะมุ่งเน้นในเรื่องการขาย จนลืมกับมาสนใจกับเรื่องเจ้าหนี้ หรือ ลูกหนี้คงค้าง เคยบรรยายที่หนึ่ง แล้วบอกว่าขายดีจนเจ๊ง มันเป็นจริงจริง เพราะเจ้าของกิจการเน้นการขาย แต่พอขายได้ก็ยังไม่ได้รับชำระเงิน ให้เครดิตที่นาน นานจนบางครั้ง สองสามเดือน กว่าจะเรียกเก็บเงินได้ เพราะเราเน้นในการขาย จนบางที่เจ๊งไปจริงๆ เพราะไม่มีเงินมาหมุน ถึงเวลาที่ต้องไปดูระยะคงค้างของทั้งลูกหนี้ และเจ้าหนี้ เพื่อจะได้จัดสรรเรื่องกระแสเงินสดได้ดียิ่งขึ้น
5. การหมุนเวียนของสินค้า หรือสินทรัพย์อื่นๆ
ถึงเวลาแล้วที่อาจจะต้องมาหมุนเวียนสินค้าหรือสินทรัพย์อื่นๆ ของบริษัทที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือมีเกินความจำเป็น โดยทำให้สภาพคล่องเหล่านั้นกลับมาเป็นเงินสดเหมือนวันแรกที่เราใช้ลงทุนไป สินค้าที่เราเคยซื้อมาในสต๊อกอาจจะต้องขายออกในราคาที่ได้กำไรลดลง หรือเท่าทุน หรือขาดทุนน้อยที่สุด เพื่อประคองการหมุนเวียนกลับมาเป็นเงินสดของกิจการ รวมทั้ง คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้สำนักงาน หรือสินทรัพย์บางอย่างที่อาจจะต้องขายออกไปเพื่อนำเงินกลับมาใช้ในสถานการณ์วิกฤติก่อน
ในเรื่องการกู้ยืม ในมุมมองของผม ไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดี หากมีโอกาสเพื่อให้เราหายใจต่อได้ บางครั้งแหล่งเงินทุนจากภายนอก ทั้งที่เป็นคนใกล้ตัวหรือ แหล่งสถาบันการเงิน อาจจะมาช่วยพยุงกิจการได้สักระยะ แต่ก็อยากให้ตั้งคำถามกับตัวเองเสมอว่า “กู้ไปเพื่ออะไร?” เพื่อเป็นการเตือนใจตัวเองก่อนการตัดสินใจ
และในบางครั้งการไม่ทำอะไร หรือเรียกว่าหยุดก่อน อาจจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดในสถานการณ์วิกฤติก็ได้ (หยุดไม่ได้แปลว่าจะกลับมาไม่ได้ วิ่งต่อไม่ได้ แค่หยุดเพื่อไม่ให้มันเลวร้ายหรือถลำลึกไปกว่าเดิม)
ในสถานการณ์วิกฤติการบริหารในหลายรูปแบบ อาจจะต้องผสมผสาน ทั้งในมุมเทคนิค และการขอความอนุเคราะห์ต่างๆ จากทั้งลูกค้า และคู่ค้าเพื่อให้วัฏจักรของธุรกิจนั้นอยู่รอด การติดตามอย่างต่อเนื่องในหลายๆ มิติ และหลายๆ ตัววัด อาจจะต้องนำมาพิจารณาเป็นพิเศษ และเจาะลึกแบบว่าเหมือนเริ่มต้นกิจการในช่วงแรกๆ อีกครั้ง อย่างไรก็ตามก็ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ประกอบการ มีสติ และมีการแก้ปัญหาได้ราบรื่น พร้อมทั้งเป็นห่วงตัวเองและครอบครัว ในมุมมองตัววัดทางชีวิตเช่นกัน