Last updated: 1 มี.ค. 2566 | 1300 จำนวนผู้เข้าชม |
มิติ หรือตัวชี้วัดสำคัญใดใน "งบการเงิน" ที่นักลงทุนให้ความสำคัญ
ROE (Return on Equity) ถือเป็นตัวชี้วัดหลักของนักลงทุน และถือว่าเป็น Key Financial Ratio ที่นักลงทุนให้ความสนใจจากผลตอบแทนทีได้ลงทุนไป สิ่งสำคัญในฐานะเจ้าของกิจการ (CEOs) อาจไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องในรายละเอียดเหมือนนักบัญชี แต่ควรรู้และมีความเข้าใจในกับ Key Financial Ratio ที่สำคัญ
Financial Ratio คือภาพสะท้อนที่สำคัญ หากเปรียบเทียบก็เหมือนกับตอนที่เราไม่สบาย แพทย์เองมีผลตัวเลขจากการวัดค่าต่างๆ เช่นเดียวกันหากเราอยากรู้สุขภาพของธุรกิจ หรือของบริษัทเราเอง ก็ต้องดูที่งบการเงิน “งบการเงินคือภาษาของธุรกิจ ถ้าเราไม่เข้าใจงบการเงินจริงๆ คุณก็ไม่ควรทำธุรกิจ ไม่ควรลงทุน เพราะว่าคุณจะตัดสินใจได้ไม่แม่นยำ สุดท้ายคุณก็จะถูกหลอก” บางทีผู้บริหารอาจรู้สึกว่าการทำงบให้ถูกต้องเป็นเรื่องน่าอึดอัด และอาจเสียภาษีโดยใช่เหตุ แต่จากประสบการณ์ของบริษัทใหญ่ หรือบริษัทมหาชน ต่างบอกว่าการทำงบการเงินให้ถูกต้อง จะช่วยสะท้อนให้เห็นว่าอะไรคือปัญหาที่แท้จริง ทำให้สามารถจัดการแก้ไขได้ หรือทำให้ดีกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมเดียวกันได้
ในตลาดหุ้นสิ่งที่กำหนดราคาหุ้น มีอยู่ 2 อย่าง คือ ความเป็นจริง กับ ความคาดหวัง ความเป็นจริง คือ งบการเงินปัจจุบัน ส่วนความคาดหวัง คือ สิ่งที่บริษัทมีเป้าหมายที่จะทำให้เกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้นเพื่อให้นักลงทุนเกิดความสนใจในการลงทุน สิ่งแรกที่จำเป็นต้องทำก็คือ การทำงบการเงินในปัจจุบันให้ดี นั่นหมายถึงทำให้บริษัทมีหนี้สินในสัดส่วนที่เหมาะสม ไม่มีอะไรที่เกินตัว สองก็คือทำให้นักลงทุนเห็นได้ว่าบริษัทมีการเติบโต มีตัวเลข backlog ที่กำลังเติบโต หรือมีแผนที่จะให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้อย่างไร
4 เรื่องหลัก ที่นักลงทุนใช้สำหรับคาดการณ์ว่าบริษัทจะมีราคาหุ้นที่เติบโตขึ้น หรือกิจการที่เติบโตขึ้นหรือไม่ คือ
1) Revenue เพราะราคาหุ้นขึ้นอยู่กับกระแสเงินสด กระแสเงินสดก็ขึ้นอยู่กับกำไร กำไรก็ขึ้นอยู่กับรายได้ นักลงทุนส่วนใหญ่มักดูว่ารายได้มาจากไหน R = P (Price) x Q (Quantity) รายได้ที่โตขึ้นก็แปลว่าราคาของสินค้าเพิ่มสูงขึ้นได้หรือไม่ จะสามารถเอาชนะภาวะเงินเฟ้อได้หรือไม่ จำนวนผู้บริโภคเพิ่มขึ้นหรือไม่ สามารถขายสินค้าได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ Market share อิ่มตัวหรือยัง ยังสามารถแข่งขันหรือมีสินค้าใหม่ได้อีกหรือไม่ เป็นต้น นอกจากนั้นยังต้องดูอีกว่า เมื่อรายได้เติบโตแล้วกำไรยังเติบโตไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่
2) Net Income เมื่อรายได้เติบโต กำไรก็ควรต้องเติบโตไปในทิศทางเดียวกัน จึงจะเป็นแรงจูงใจให้แก่นักลงทุน แนวโน้มของกำไรก็ควรเติบโตไปอย่างต่อเนื่อง กำไรยังสะท้อนถึงเรื่องการบริหารจัดการต้นทุนของกิจการว่ามีการบริหารได้ดีขึ้น หรือการปรับโครงสร้างต้นทุนไปในทิศทางใด
3) Cash from Operating Activities งบกระแสเงินสดจะเป็นสิ่งที่ช่วยบอกได้ว่าบริษัทมีกำไรแล้วมีเงินสดด้วยหรือไม่ เพราะโดยปกติกระแสเงินสดที่หมุนเข้าบริษัท โดยเฉพาะกระแสเงินสดจากการดำเนินงานหากมียอดเป็นบวกประกอบกับการมีกำไรทางบัญชีด้วย ถ้าเป็นเช่นนี้ก็ค่อนข้างปลอดภัยได้สำหรับการลงทุน
4) Operating Margin หมายถึงบริษัทมีความสามารถในการแข่งขันมากแค่ไหน หากขายสินค้าในราคาเท่ากันบริษัทไหนที่จะมี Margin ที่ดีกว่า แต่ต่อให้สามารถทำกำไรได้สูงกว่า เมื่อผ่านระยะเวลาไปหลายปี ความสามารถในการทำเงิน การลงทุน การขยายกิจการ ฯลฯ จะเริ่มเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นจุดที่หุ้นจะขึ้นเยอะที่สุด ก็คือจุดที่ Margin กระโดดขึ้น เมื่อไหร่ก็ตามที่ตัวเลขกระโดดขึ้น นักลงทุนจะจับตาดูเป็นพิเศษว่าบริษัทมีอะไรเกิดขึ้น เช่น มีกลยุทธ์ใหม่หรือไม่ มีการลดต้นทุนทางการเงิน หรือมีการเปลี่ยนสินค้า ฯลฯ ถ้านักลงทุนเล็งเห็นว่าธุรกิจ จะสามารถอยู่ได้อีกหลายปี ก็จะเริ่มลงทุนเพิ่มขึ้น หลังจากนั้นพวก Financial Ratio ต่างๆ จะยิ่งมีบทบาทในการวิเคราะห์มากขึ้น
คุณภาพกิจการ สะท้อนผ่าน “CEO”
“ให้อ่านงบการเงินเหมือนอ่านนิยาย แล้วมันจะสนุก ทำให้อยากติดตาม จนกระทั่งรู้ไส้ในของผู้บริหารได้หลายๆ แบบ ว่าทำไมผู้บริหารคิดเช่นนั้น”
คุณภาพของกิจการสามารถดูได้จาก
1) การมีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง วิธีสังเกตบริษัทที่มีแบรนด์ที่แข็งแกร่งก็คือ เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการขึ้นราคาสินค้าแล้ว คู่แข่งไม่สามารถแย่งส่วนแบ่งทางการตลาด (Market share) ไปได้นั่นเอง
2) มีการประหยัดจากขนาด คือการที่บริษัท หรือผู้บริหารมีความเข้าใจและสามารถจัดการเรื่อง Five Forces ได้ดี ทั้งการต่อรองกับคู่ค้า การลดต้นทุน รู้จักคู่แข่ง และสามารถทำให้ Gross Profit Margin โตกว่าคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน
3) มีรายรับเป็นเงินสด ธุรกิจหลายตัวที่สามารถทำยอดขายได้ดี แต่ไม่สามารถเรียกเก็บเงิน หรือไม่มีกระแสเงินสดก็ทำให้กิจการเดินหน้าไม่ได้ เหมือนที่เขาบอกกันว่า “ขายดีจนเจ๊ง”
4) มีฐานะการเงินมั่นคง การดูรายได้ที่โตเหนือกว่ากลุ่มอุตสหกรรมเดียวกัน และดูที่ Gross Profit Margin โดยเปรียบเทียบกับธุรกิจที่ใกล้เคียงหรืออยู่ในระดับ (Tier) เดียวกัน
5) มีผู้บริหารที่ยอดเยี่ยม สังเกตได้จากผู้บริหารตัดสินใจเพื่อผู้ถือหุ้นหรือไม่ ผู้บริหารบริหารธุรกิจอย่างไร ซึ่งสามารถดูได้จาก Efficient Ratio เช่น ROE ROA เทียบผู้บริหารคนนี้กับคนอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกันแล้วดีกว่าหรือไม่ สุดท้ายผู้บริหารใช้เงินไปกับเรื่องใด และมีความโปร่งใสตรวจสอบได้หรือไม่
Number don’t lie เพราะฉะนั้นก็ต้องอ่าน จะได้ไม่มีใครโกงเราได้!!!
“โมเดลธุรกิจ” (Business Model) หัวใจสำคัญที่กำหนดตัวเลขทางการเงิน
ไม่ว่าจะเป็นมุมของนักลงทุน หรือมุมของเจ้าของกิจการ สิ่งที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตได้รวดเร็วกว่าคู่แข่งก็คือ “โมเดลธุรกิจ” (Business Model) ผู้บริหารต้องมองให้ชัดว่า From Here to There เรามองธุรกิจของเราอย่างไร อยากให้เติบโตในแบบไหน พออยู่พอกินหรือต้องการขยายเติบโต ซึ่งตัวเลขทางการเงินสามารถสะท้อนเป้าหมายของธุรกิจได้ชัดเจน และเมื่อเป้าหมายชัดเจนก็จะทำให้ตัวเลขเปลี่ยนตามไปด้วย และรู้ว่าธุรกิจต้องไปในทิศทางใด นอกจากนั้นผู้บริหารต้องมองให้ออกว่า Value Chain ในธุรกิจที่ทำอยู่ กำไรสูงสุดอยู่ที่ต้นน้ำ กลางน้ำ หรือปลายน้ำ แล้วให้โมเดลธุรกิจเริ่มเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นมากขึ้น
นอกจากนั้นโมเดลธุรกิจ หรือนโยบายการดำเนินธุรกิจเป็นสิ่งที่ช่วยให้ผู้บริหารตัดสินใจได้ถูกต้อง ใช้ Gut Feeling น้อยลง สุดท้ายตัวเลขจะสามารถบอกได้ว่า
เมื่อไหร่ก็ตามที่ผู้บริหารวางแผนเรื่องนี้ได้ ผู้บริหารจะรู้ทันทีว่าควรจะวางกลยุทธ์ทางการตลาดอย่างไร และจะดียิ่งขึ้นอีก หากผู้บริหารลองศึกษาจากกรณีศึกษาของบริษัทที่อยู่ในตลาด หรือบริษัทรายใหญ่ ว่าบริษัทเหล่านั้นใช้วิธีอะไร คิด วางแผน และทำอย่างไร โดยไม่ต้องคิดเอง แล้วใช้บทเรียนความสำเร็จของบริษัทเหล่านั้นปิดช่องว่างหรือรูรั่วของเรา ก็จะยิ่งทำให้ธุรกิจเติบโตได้เร็วขึ้น และไม่เสียเวลา
เรื่องของ Business Model ถ้าผู้บริหารมองออกตั้งแต่เริ่ม จะช่วยส่งผลดีในระยะยาว จะมองเห็นโอกาสในการแข่งขัน เติบโต ลดต้นทุน ส่งผลต่อ Economy of Scale ที่ดีขึ้น เป็นผู้นำในอุตสาหกรรม เห็นทิศทาง และสามารถเห็นปัญหาได้เร็วกว่า สามารถลดปัญหา ควบคุมการดำเนินงาน และตัวเลขทางการเงินที่จะเกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลาของธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รู้เขา รู้เรา ลงทุนกี่ครั้งก็รุ่ง
สุดท้ายแล้วเพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุน สิ่งที่เราควรยึดเป็นหลักคือ เราควรรู้ว่าธุรกิจอะไรที่เราควรจะลงทุน สินค้าอะไรที่เรายังจำเป็นต้องบริโภคทั้งในปัจจุบัน และอนาคตอีกหลายสิบปี ทำความเข้าใจ Business Model ของบริษัทนั้น ศึกษาแนวคิด วิธีการบริหารงานของ CEO หรือผู้บริหาร ไม่ว่าจะลงทุนในรูปแบบไหนก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดที่ขาดไม่ได้ก็คือ การศึกษางบการเงินของบริษัทนั้น อย่าหลงแค่เพียงรายได้ที่เติบโต หรือดูเพียงกำไรขาดทุน แต่ต้องเลือกดู Efficiency Ratio ที่สำคัญ แล้วจะทำให้การลงทุนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
------------------------------------------------------
สรุปเนื้อหาจากช่วงสนทนางาน The Magic Number Alumni ครั้งที่ 1 (15 กุมภาพันธ์ 2566)
19 พ.ค. 2564
31 ธ.ค. 2563
18 ก.ค. 2564
13 มิ.ย. 2564